ทำอย่างไรให้ผู้เรียนใส่ใจคณิตศาสตร์

             โดย อภิญญา  ซอระสี นักศึกษาปริญญาโท สาขา หลักสูตรและการสอน(คณิตศาสตร์)

                       นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากวิชาคณิตศาสตร์มีลักษณะเป็นนามธรรม และเนื้อหาบางตอนก็ยากที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจ ต้องใช้ความคิดอย่างสมเหตุสมผล จึงจะเรียนรู้และเข้าใจโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้เรียนส่วนใหญ่จึงไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ และมีผลการเรียนอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ นักเรียนคิดแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ไม่เป็นการเรียนการสอนจึงมีลักษณะเป็นการเลียนแบบนักเรียนทำแบบฝึกหัดหรือทำการบ้านไม่ได้ นักเรียนไม่สนใจและไม่ตั้งใจเรียน นักเรียนส่วนมากไม่มีทักษะในการคิดคำนวณ และไม่มีทักษะในการคิดแก้ไขปัญหาคณิตศาสตร์ เนื่องจากครูคณิตศาสตร์โดยทั่วไปคิดว่าการสอนคณิตศาสตร์แผนใหม่มุ่งเน้นความเข้าใจความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติด้านการทำแบบฝึกหัดหรือการทำการบ้านมาก ๆ (สมจิต ชีวปรีชา; อ้างใน นพวรรณ มงคลนพเก้า. 2545 : 46-47)

                          ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนคิดว่า ผู้สอนควรที่จะสนใจว่าทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เรียนใส่ใจคณิตศาสตร์ให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่าก่อนอื่นผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีกับวิชาคณิตศาสตร์ก่อน และจึงขอเสนอรูปแบบการสอนซึ่งมี 6 ระดับขั้น คือ

    1. ขั้นออกแบบ : ผู้สอนต้องวางแผนและออกแบบกิจกรรม ให้สอดคล้องกับเนื้อหาและระดับการเรียนรู้ อย่างรอบคอบ ระดับความพร้อมของผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม สนุกสนานในการเรียน มีทักษะทางคณิตศาสตร์ในด้านต่าง ๆ
    2. ขั้นนำ : ต้องสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน ส่งเสริมให้เด็กมีเหตุผล สร้างความสามัคคี เช่น นำเข้าสู่บทเรียนด้วยเกม การแข่งขัน คิดเลขเร็ว แต่งนิทาน วาดรูป
    3. ขั้นสอน : ผู้สอนต้องสอนจากสิ่งที่ง่าย ไปสู่ยาก ในเรื่องที่ยากผู้สอนต้องไม่ให้ผู้เรียนศึกษาเองและไม่ควรเน้นที่ใบงาน ใบกิจกรรมมากจนเกินไป ผู้สอนควรเป็นผู้ที่คอยแนะนำ ให้คำปรึกษาไม่ใช่ผู้บอกทั้งหมด ผู้สอนต้องให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงทัศนคติ และนำสื่อต่าง ๆ มาใช้ประกอบการสอน ควรเป็นสื่อที่ผู้สอนผลิตเองหรือให้ผู้เรียนร่วมกันผลิตสื่อ เน้นการใช้วัสดุที่หาได้ง่าย อาจใช้ของจริงประกอบ
    4. ขั้นฝึกหัด : ผู้สอนควรกำหนดสถานการณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่เรียน ให้ผู้เรียนทำเป็นรายบุคคล หรือทำเป็นกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มควรมีการคละความสามารถของผู้เรียน ในขั้นนี้อาจให้ผู้เรียนในแต่ละกลุ่ม ร่วมกันสร้างสถานการณ์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่เรียนแล้วออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน
    5. ขั้นสรุป : ให้ผู้เรียนซักถามข้อสงสัย (ถ้ามี) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เรียนไป ผู้สอนช่วยชี้แนะ และผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันสรุปเนื้อหาที่ได้เรียนไป หรือให้ผู้เรียนสรุปเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม
    6. การประเมิน : เน้นการประเมินตามสภาพจริง มีการประเมินที่หลากหลาย และควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินด้วย

           รูปแบบการสอน 6 ขั้นนี้ เป็นรูปแบบกว้าง ๆ ที่ผู้สอนสามารถประยุกต์เอาวิธีสอนต่าง ๆ มาใช้ เพราะเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่แล้วว่าในวิธีสอนนั้นไม่มีวิธีสอนใดดีที่สุดกับทุกเนื้อหา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้สอนว่าจะเลือกเอาวิธีสอนใดมาใช้ และควรคำนึงว่า การสอนนั้น

    • ต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาหรือสามารถทำให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ มากที่สุดและต้องเน้นให้ผู้เรียนเกิดการฝึกทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์
    • นำสถานการณ์จริงมาใช้ในการสอน เพราะการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงเป็นการฝึกปฏิบัติให้คิดเป็น และเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เรียนมองคณิตศาสตร์เป็นรูปธรรม
    • ไม่ควรใช้วิธีสอนที่ซ้ำ ๆ เดิม ๆ หรือหลีกเลี่ยงการสั่งการบ้านมาก ๆ เพราะผู้เรียนจะได้ไม่รู้สึกน่าเบื่อ ควรหลีกเลี่ยงโดยให้แบ่ง ๆ กันทำแล้วนำเสนอ เป็นต้น
    • เน้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนให้มาก ๆ เช่น การผลิตสื่อ การทำแบบฝึกหัด การจัดกิจกรรม ให้ผู้เรียนได้มีส่วนช่วยกันในกลุ่มเพื่อน เพราะเมื่อครูช่วยให้ นักเรียนพัฒนาการเรียนของตนและตระหนักถึงความเกี่ยวข้องของทักษะ และกระบวนการต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในชีวิตจริง นักเรียนก็จะกล้าคิดกล้าทำและร่วมกันรับผิดชอบในการเรียนมากขึ้น การมีส่วนร่วมนี้ช่วยให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นและมีแรงจูงใจ การทำงานเป็นกลุ่มย่อย หรือทำงานเดี่ยวกับการทำงานร่วมกับผู้อื่นและได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นช่วยให้นักเรียนได้มีส่วนเป็นเจ้าของในการเรียนนั้น ๆ การมีส่วนร่วมจะช่วยลดความกลัวในเรื่องความผิดพลาดและช่วยให้ นักเรียนกล้าเสี่ยง ในเวลาเดียวกันจะเป็นโอกาสสำหรับครูที่จะให้ข้อมูลย้อนกลับแก่นักเรียนเพื่อให้นักเรียนพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

              ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การเรียนคณิตศาสตร์มิใช่เพียงแค่ผู้สอนต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้เรียนเท่านั้น แต่เป็นการสร้างเจตคติที่ดีให้กับผู้เรียน ต้องทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าการเรียนคณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ทำให้ผู้เรียนรู้สึกอยากเรียนคณิตศาสตร์ และทำให้ผู้เรียนรู้ว่าในชีวิตประจำวันนั่นก็เป็นคณิตศาสตร์ นี่ก็เป็นคณิตศาสตร์ ไม่ใช่ให้ผู้เรียนเกิดคำถามในใจว่าเรียนคณิตศาสตร์ไปทำไมไม่เห็นได้ใช้เลย

แหล่งอ้างอิง

ยุพิน พิพิธกุล.(2530).การสอนคณิตศาสตร์.กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุวิทย์, อรทัย  มูลคำ.  (2545).  วิธีจัดการเรียนรู้ : เพื่อพัฒนาความรู้และ 

       ทักษะ.  กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดการพิมพ์.

นพวรรณ  มงคลแก้ว.  (2542).  การศึกษาความคิดเห็นของครู

       คณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

        กลุ่มโรงเรียนสุโขทัย สังกัดสำนักงานประถมศึกษา.  กรุงเทพฯ.

        ภาคนิพนธ์

การสอนคณิตศาสตร์ : [ออน-ไลน์].  แหล่งที่มา :http://www.kanid.com

ปัญหาคณิตศาสตร์ : [ออน-ไลน์].  แหล่งที่มา :http://www.google.com

ผู้เรียบเรียง

 

ที่มา : นางสาวอภิญญา ซอระสี นักศึกษาปริญญาโท สาขาหลักสูตรและการสอน(คณิตศาสตร์)


โดย : นางสาว อภิญญา ซอระสี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548

 

 

Free Web Hosting